สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้จัดทำ เวยปั๋ว หรือทวิตเตอร์จีน เพื่อส่งเสริมกระแส T-Pop (Thai- Pop)ในจีน

1 ส.ค.

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้จัดทำ เวยปั๋ว หรือทวิตเตอร์จีน ของสถานกงสุลใหญ่ฯ ขึ้น เพื่อใช้สื่อสารกับชาวจีนที่นิยมชมชอบละครโทรทัศน์ ดารา และวงการบันเทิงของไทย รุกรับกระแส ที-ป็อป T-Pop (Thai pop culture)

   ขณะนี้ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้จัดทำ เวยปั๋ว หรือทวิตเตอร์จีน ของสถานกงสุลใหญ่ฯ ขึ้น เพื่อใช้สื่อสารกับชาวจีนที่นิยมชมชอบละครโทรทัศน์ ดารา และวงการบันเทิงของไทย ซึ่งแน่นอนว่า จะเป็นช่องทางสื่อสารที่สะดวก รวดเร็ว ถึงตรง เพราะชาวจีนเพียงแค่กดปุ่ม follow หรือ ติดตามสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ (http://t.sina.com.cn/thaiconsulatesh) ไม่ว่าคนจีนคนนั้นจะอยู่ในมุมไหนของโลก ก็จะสามารถทราบความเคลื่อนไหวในทุกฝีก้าวของวงการบันเทิงไทย ทั้งภาพยนตร์และละครไทย นอกจากนี้ เวยปั๋วยังแนะนำวัฒนธรรมประเพณีไทย สถานที่ท่องเที่ยวในไทย อาหารไทย ร้านอาหารไทย และดนตรีไทย โดยนำเสนอเป็นภาษาจีนด้วย

ทั้งนี้ ทวิตเตอร์จีนหรือเวยปั๋ว มีเครือข่ายกว้างขวาง มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คน เวยปั๋วของบริษัทซีน่าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ เป็นสมาชิกอยู่นั้น มีสมาชิกมากที่สุดในจีนกว่า 100 ล้านคน ปัจจุบันมีดาราจีนและผู้บริหารบริษัทจีนจำนวนมากเปิดใช้เวยปั๋ว เพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์และสร้างอิทธิพลทางความคิดในหมู่ชาวเน็ตจีน โดยดาราสาวจีน ชื่อ เหยา เฉิง สมาชิกเวยปั๋วที่มีแฟนคลับติดตามมากที่สุดเกือบ 8 ล้านคน นอกจากนี้ หน่วยงานราชการจีนเองทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะตำรวจจีนก็มีการจัดทำเวยปั๋ว เพื่อรับข้อมูลต่างๆ จากสาธารณชนในการแก้ไขปัญหาและคลี่คลายคดี อาทิ คดีลักพาตัวเด็กที่ผ่านมา ก็ได้ใช้เวยปั๋วเป็นแหล่งข้อมูลในการจับตัวคนร้ายได้ทันท่วงที นี่ก็แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของอินเตอร์เน็ตที่ซึมซับเข้าสู่สังคมจีน โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นตามเมืองใหญ่ๆ ของจีน

โดยภายใน 1 เดือนหลังจากตั้งเวยปั๋วสถานกงสุลใหญ่ฯ ขึ้น ปัจจุบันมีแฟนคลับแล้วประมาณ 4,000 คน มีคนจีนเข้ามาคอมเมนท์แล้วกว่า 10,000 ครั้ง จำนวนแฟนคลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วๆ ทุกวัน โดยเกือบทั้งหมดเป็นคนจีน ซึ่งร้อยละ 35 มาจากนครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลใกล้เคียง ร้อยละ 20 มาจากมณฑลกว่างโจว ร้อยละ 35 จากมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศจีน และอีกร้อยละ 10 เป็นชาวจีนที่พำนักในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทย

ปรากฏการณ์ดังกล่าวตอกย้ำความสนใจในวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะวงการบันเทิงที่มีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่ค่ายเอ็กแซคท์ เริ่มขายละครโทรทัศน์ไทยเข้าสู่ตลาดโทรทัศน์จีน ที่ยังมีความต้องการรายการบันเทิงอีกจำนวนมาก (จีนมีสถานีโทรทัศน์ระดับประเทศกว่าสี่สิบช่อง) ประเดิมด้วยเรื่องเลือดขัตติยาในปี 47 ตามด้วยเรื่องสงครามนางฟ้า ซึ่งถือเป็นจุดสร้างกระแสละครไทยในปี 52 โดยละครทั้งสองเรื่อง ได้ฉายในโทรทัศน์จีนอย่างถูกกฎหมาย และพากย์เป็นภาษาจีน สำหรับละครเรื่อง ค่าของคน ที่มี ป้อง ณวัฒน์ เป็นพระเอก ก็มีคนจีนติดตามละครเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กับผู้ชมในประเทศไทย โดยถึงแม้จะยังไม่ได้นำมาฉายในโทรทัศน์จีน แต่พวกเขาใช้วิธีการอัพโหลด/ ดาวน์โหลดทางอินเตอร์เน็ต และมีชาวจีนที่เข้าใจภาษาไทย ช่วยกันแปลซับไตเติ้ลเป็นภาษาจีนประกอบ

สถานกงสุลใหญ่ฯ ยังได้ใช้เวยปั๋ว ประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมวัฒนธรรมต่างๆ ในนคร เซี่ยงไฮ้ เช่น การเชิญป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ และ บี้ สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว เข้าร่วมงานเทศกาลโทรทัศน์ ณ นครเซี่ยงไฮ้ใน (6- 10 มิถุนายน 2554) การที่ภาพยนตร์ไทยได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ (11- 19 มิถุนายน 2554) การจัดเทศกาลไทยบนถนนไท่คัง นครเซี่ยงไฮ้ในเดือนพฤษภาคม (6- 8 พฤษภาคม 2554) และการเชิญคุณทมยันตี สัมมนาเกี่ยวกับวรรณกรรมไทย (ปลายเดือนพฤษภาคม 2554) โดยเฉพาะเรื่องที่เคยได้รับการถ่ายทำเป็นละครโทรทัศน์ เช่น เรื่องเลือดขัตติยา และเรื่องค่าของคน ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างสูงในตลาดบันเทิงจีน ผลโหวตต่างๆ ของสื่อจีน โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตรายงานว่าความนิยมละครไทยนั้นแซงหน้าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าตลาดบันเทิงเอเชียไปเรียบร้อยแล้ว

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นที่น่ายินดีสำหรับคนไทยทุกคน คือชาวจีน กำลังสนใจเรียนภาษาไทย โดยใช้เวยปั๋ว ผ่าน ภาษาไทยวันละคำ ที่ได้พยายามสอดแทรกให้แฟนๆ สามารถใช้พูดง่ายๆ เมื่อไปเที่ยวที่ไทย และใช้มีทแอนด์กรีท ดาราในดวงใจได้ เป็นสิ่งที่ได้รับการรีทวีท ต่อหลายร้อยครั้ง

นอกจากนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ยังให้ข้อมูลว่า บริษัทไทยที่อยากจะเข้าสู่ตลาดจีน ยังสามารถใช้เวยปั๋ว ของสถานกงสุลใหญ่ฯ ประชาสัมพันธ์สินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีความเป็นไทยเพื่อดึงดูดความสนใจผู้บริโภคจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวในระดับกลาง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงจัดส่งข้อมูลสรุปอย่างกระชับ (ภาษาจีน หากเป็นไปได้) พร้อมรูปภาพประกอบที่น่าสนใจมาที่อีเมลของสถานกงสุลใหญ่ฯ thaiconsul.sgh@gmail.com

ก่อนหน้านี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ เคยจัดให้มีการโหวตออนไลน์ภาพยนตร์ไทยในปี 2553 ที่ชาวจีนนิยมมากที่สุด ซึ่งผล คือ ภาพยนตร์เรื่อง สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก ได้รับการโหวตให้เป็นภาพยนตร์ไทยยอดนิยมของชาวจีนในปี 2553 (กว่าร้อยละ 60) จากผู้โหวตชาวจีนกว่า 1,000 คน ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า เวยปั๋วเป็นโพลสำหรับวัดปริมาณและลักษณะความนิยมของคนจีนที่มีต่อวัฒนธรรมและสินค้าไทยได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณ :  สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้  

                http://www.thaishanghai.com/th/index.php

มีการตอบกลับหนึ่งครั้ง to “สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้จัดทำ เวยปั๋ว หรือทวิตเตอร์จีน เพื่อส่งเสริมกระแส T-Pop (Thai- Pop)ในจีน”

  1. T-POP-FicTion 2 สิงหาคม 2011 ที่ 22:19 #

    T-pop จงเจริญยศ

ใส่ความเห็น